วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

หน่วยที่ 5

หน่วยที่ 4 หนังสืออ้างอิง
ความหมายของหนังสืออ้างอิง หนังสืออ้างอิง หมายถึง หนังสือรวบรวมความรู้ เรื่องราว ข้อเท็จจริง ในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อค้นหาคำตอบหรือข้อความ เฉพาะบางเรื่อง บางตอน โดยไม่ต้องอ่านทั้งเล่ม หนังสืออ้างอิงเป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งห้องสมุดต้องจัดแยกออกจากหนังสือประเภทอื่นๆและกำหนดสัญลักษณ์เพิ่มเติมขึ้นเหนือเลขเรียกหนังสือ โดยสัญลักษณ์ที่ใช้สำหรับหนังสืออ้างอิงภาษาไทย จะใช้อักษร อ มาจากคำว่า อ้างอิง และหนังสือภาษาต่างประเทศจะใช้อักษร R หรือ Ref มาจากคำว่า Reference ซึ่งหนังสืออ้างอิงจะไม่อนุญาตให้ยืมออกจากห้องสมุดอ306.03ส678 อ423.9591ว579พ Ref030W927 Ref920B782p
ลักษณะของหนังสืออ้างอิง
ธาดาศักดิ์ วชิรปรีชาพงษ์ (2534 : 278) ได้กล่าวถึงลักษณะของหนังสืออ้างอิง ดังนี้
1. เป็นหนังสือที่ใช้อ่านเนื้อหาเพียงบางตอน เพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ
2. เป็นหนังสือที่มีการจัดเรียงเนื้อหาภายในเล่มอย่างเป็นระบบเพื่อความสะดวก ในการใช้ เช่น มีการเรียงตามลำดับอักษร หรือมีการเรียงตามลำดับหมวดหมู่
3. เป็นหนังสือที่มีรูปเล่มขนาดใหญ่ หรือมีความหนามากกว่าปกติ
4. เป็นหนังสือชุด มีหลายเล่มจบ ถ้ายืมออกไปเล่มใดเล่มหนึ่งอาจเกิดการชำรุดเสียหาย หรือสูญหาย การซื้อมาทดแทนไม่สามารถซื้อเพียงบางเล่มได้ ต้องซื้อทั้งชุด
5. เป็นหนังสือที่หายาก มีจำนวนพิมพ์จำกัด และไม่มีการพิมพ์เพิ่มเติม หรือมีภาพสำคัญๆ ที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน
6. เป็นหนังสือที่มีราคาแพง การจัดเรียงเนื้อหาของหนังสืออ้างอิง หนังสืออ้างอิงแต่ละประเภทมีการจัดเรียงเนื้อเรื่องภายในเล่มแตกต่างกันไป
เพื่อความเหมาะสมในการค้นหาเรื่องที่ต้องการได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถจัดแบ่งรูปแบบการจัดเรียงเนื้อเรื่องของหนังสืออ้างอิง (ลมุล รัตตากร. 2539 : 149-153) ดังนี้
1. เรียงตามลำดับอักษร เป็นการจัดเรียงคำ หรือเรื่องภายในเล่มของหนังสืออ้างอิงตามลำดับอักษร ก-ฮ สำหรับหนังสืออ้างอิงภาษาไทย หรือ A-Z สำหรับหนังสืออ้างอิงภาษาอังกฤษ การจัดเรียงแบบนี้ ได้แก่ หนังสืออ้างอิงประเภท พจนานุกรม สารานุกรม หนังสือคู่มือ นามานุกรม และอักขรานุกรมชีวประวัติ และเป็นพื้นฐานการเรียงสำหรับหนังสืออ้างอิงทุกประเภท
2. เรียงตามหมวดหมู่ เป็นการจัดแบ่งเนื้อเรื่องตามหมวดหมู่สาขาวิชาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภายใต้หมวดหมู่เหล่านั้นจะจัดเรียงรายการต่างๆ ตามลำดับอักษรอีกครั้งหนึ่ง การจัดเรียงแบบนี้พบในหนังสืออ้างอิงประเภทดรรชนี และบรรณานุกรม
3. เรียงตามลำดับเหตุการณ์หรือเวลา เป็นการจัดเรียงเนื้อเรื่องภายในเล่มของหนังสืออ้างอิงตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหลัง การจัดเรียงแบบนี้มักพบในหนังสืออ้างอิงประเภทหนังสือรายปี หนังสืออ้างอิงประเภทประวัติศาสตร์
4. เรียงตามลำดับลักษณะภูมิศาสตร์ เป็นการจัดเรียงเนื้อเรื่องภายในเล่มของหนังสืออ้างอิงตามลักษณะภูมิประเทศ เช่น จัดเรียงตามลำดับอักษรของทวีปก่อน แล้วภายใต้ทวีปจึงจัดเรียงตามลำดับอักษรของประเทศ จากนั้นจะจัดเรียงตามลำดับอักษรชื่อของสถานที่ทางภูมิศาสตร์ของประเทศนั้นๆ อีกครั้งหนึ่ง การจัดเรียงแบบนี้ ได้แก่ หนังสืออ้างอิงประเภทหนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์
ลักษณะพิเศษ เพื่อช่วยค้นหาเรื่องราวจากหนังสืออ้างอิง
1. สัญลักษณ์นำเล่ม (volume guide) เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ที่สันหรือปกของหนังสือ โดยส่วนใหญ่จะจัดทำขึ้นสำหรับหนังสืออ้างอิงที่เป็นชุด มีหลายเล่มจบ เพื่อบอกลำดับที่ของเล่มนั้นๆ ว่าเป็นเล่มที่เท่าใด ของชุด และเพื่อช่วยให้ทราบว่าเรื่องที่ต้องการอยู่ในเล่มใดของชุดนั้น
2. ดรรชนีหัวแม่มือ / ดรรชนีริมหน้ากระดาษ (thumb index) เป็นการตัดกระดาษริมขวาของหนังสืออ้างอิงให้เป็นรูปครึ่งวงกลม แล้วกำกับด้วยตัวอักษร เพื่อช่วยให้เปิดค้นหาคำต่างๆ ที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
3. คำนำทาง หรือ อักษรนำหน้า (guide word / running head) คำที่ปรากฏอยู่ที่มุมบนของหน้ากระดาษทุกหน้าในหนังสืออ้างอิง ทั้งหน้าซ้ายและหน้าขวา โดยเป็นการนำคำแรก และคำสุดท้ายของหน้านั้นๆ มาเขียนไว้ เพื่อช่วยให้ค้นหาเรื่องที่ต้องการ ซึ่งอยู่ในช่วงหน้านั้นๆ ได้รวดเร็วขึ้น
4. ดรรชนี หรือ ดัชนี (index) เป็นการนำคำที่ปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องของหนังสืออ้างอิงมาเรียงตามลำดับอักษร และกำกับด้วยเลขหน้าเพื่อบอกว่าคำๆ นั้นอยู่ที่หน้าใด ช่วยทำให้การค้นหาเรื่องรวดเร็วขึ้น โดยปกติ ดรรชนีจะปรากฏอยู่ที่ส่วนท้ายเล่มของหนังสืออ้างอิง หรืออยู่ที่เล่มสุดท้าย ของหนังสืออ้างอิงที่มีหลายเล่มจบ หรือหนังสืออ้างอิงที่เป็นชุด
5. ส่วนโยง (cross reference)
1) ส่วนโยง ดูที่ (see) เป็นส่วนโยงที่ชี้แนะให้ผู้ใช้สืบค้นสารสนเทศ จากคำสำคัญที่อยู่ด้านหลังคำว่า “ดูที่” เนื่องจาก คำที่อยู่ด้านหน้าคำว่า ดูที่ นั้น เป็นคำไม่นิยมใช้ หรือเป็นคำที่ไม่สุภาพ หรือเป็นคำภาษาท้องถิ่น หรือเป็นคำที่เลิกใช้แล้วในปัจจุบัน เช่น

เอื้องแซะเหลือง ดูที่ เอื้องกาจก

หมายความว่า เมื่อต้องการสืบค้นคำว่า เอื้องแซะเหลือง ให้ผู้ใช้สืบค้นจากคำว่า เอื้องกาจก แทน ดังนั้นผู้ใช้ต้องไปเปิดที่คำว่าเอื้องกาจกจึงจะพบสารสนเทศที่ต้องการ
2) ส่วนโยง ดูเพิ่มที่ หรือ ดูเพิ่มเติมที่ หรือ ดูเพิ่มเติม (see also) หมายความว่า ผู้ใช้ได้รับสารสนเทศจากการสืบค้นคำที่อยู่ด้านหน้าคำว่า “ดูเพิ่มที่” เรียบร้อยแล้ว แต่สารสนเทศที่ได้นั้นยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้อง หรือมีเรื่องที่ผู้ใช้ควรทราบเพิ่มเติมอีก ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ผู้ผลิตหนังสือจึงได้จัดทำส่วนโยง “ดูเพิ่มที่” เพื่อช่วยชี้แนะให้ผู้ใช้ค้นหาสารสนเทศเพิ่มเติมจากคำสำคัญที่อยู่ด้านหลังคำว่า “ดูเพิ่มที่” เช่น

เกาะ ดูเพิ่มที่ เกาะดอนแท่น

หมายถึง นอกจากจะพบสารสนเทศเรื่อง เกาะ แล้ว ยังสามารถอ่านสารสนเทศเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับเกาะในแง่มุมอื่นๆ อีก ถ้าค้นหาจากคำว่า เกาะดอนแท่น เพิ่มเติม

ประเภทของหนังสืออ้างอิง
1. หนังสืออ้างอิงที่ให้สารสนเทศ หมายถึง หนังสืออ้างอิงที่รวบรวมความรู้ เรื่องราว ข้อเท็จจริง ในสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งผู้ใช้จะได้รับความรู้จากสารสนเทศภายในเล่มของหนังสือได้ทันที หนังสืออ้างอิงที่ให้สารสนเทศ สามารถจำแนกได้ 7 ประเภท ได้แก่
1.1 พจนานุกรม (Dictionary) พจนานุกรม เป็นหนังสืออ้างอิงที่ให้สารสนเทศเกี่ยวกับคำศัพท์ ความหมาย การออกเสียง ประเภทของคำ ประวัติ การใช้คำ คำพ้อง และคำตรงข้าม โดยจัดเรียงคำศัพท์ตามลำดับอักษร ก-ฮ หรือ A-Z ซึ่งลักษณะภาษาที่ปรากฏให้เห็นในพจนานุกรม พจนานุกรมสามารถแบ่งได้หลายวิธี ดังนี้
1.1.1 จำแนกตามภาษาได้ดังนี้
1) พจนานุกรมภาษาเดียว หมายถึง พจนานุกรมที่มีคำศัพท์และคำแปลเป็นภาษาเดียวกัน เช่น คำศัพท์เป็นภาษาไทย- คำแปลเป็นภาษาไทย คำศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ - คำแปล เป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น
2) พจนานุกรมสองภาษา หมายถึง พจนานุกรมที่มีคำศัพท์ภาษาหนึ่ง และคำแปล เป็นอีกภาษาหนึ่ง เช่น คำศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ - คำแปลเป็นภาษาไทย คำศัพท์เป็นภาษาไทย - คำแปล เป็นภาษาอังกฤษ คำศัพท์เป็นภาษาญี่ปุ่น - คำแปลเป็นภาษาไทย เป็นต้น
3) พจนานุกรมหลายภาษา หมายถึง พจนานุกรมที่มีคำศัพท์ภาษาหนึ่ง และคำแปลเป็นภาษาอื่นๆ ตั้งแต่สองภาษาขึ้นไป เช่น คำศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ - คำแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส - คำแปลเป็นภาษาเยอรมัน คำศัพท์เป็นภาษาไทย - คำแปลเป็นภาษาอังกฤษ - คำแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส - คำแปลเป็นภาษาสเปน เป็นต้น
1.1.2 พจนานุกรมจำแนกตามเนื้อหา เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1) พจนานุกรมทั่วไป (General Dictionary) พจนานุกรมทั่วไป (General Dictionary) เป็นพจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์ ที่มีใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป
2) พจนานุกรมเฉพาะวิชา (Subject Dictionary) พจนานุกรมเฉพาะวิชา (Subject Dictionary) เป็นพจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์เฉพาะในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง
1.2 สารานุกรม (Encyclopedia) สารานุกรมเป็นหนังสืออ้างอิงที่อธิบายความรู้ ข้อเท็จจริง ในเรื่องต่างๆ ทุกสาขาวิชา โดยจัดเรียงชื่อของเนื้อเรื่องภายในเล่ม ตามลำดับอักษร ก-ฮ สำหรับสารานุกรมภาษาไทย หรือ A - Z สำหรับสารานุกรมภาษาอังกฤษ สารานุกรมจำแนกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1) สารานุกรมทั่วไป (General Encyclopedia) เป็นหนังสืออ้างอิงที่ให้ความรู้ในสาขา วิชาต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไป เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ
2) สารานุกรมเฉพาะวิชา (Specific Encyclopedia) เป็นหนังสืออ้างอิง ที่ให้ความรู้เฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง มีความลึกซึ้งในเนื้อหาวิชามากขึ้นกว่าสารานุกรมทั่วไป
1.3 หนังสือรายปี (Yearbook / Almanac / Annual) เป็นหนังสืออ้างอิงที่รวบรวมเรื่องราว เหตุการณ์ สถิติ ข้อมูลที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา มีการจัดพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ และมีกำหนดออก 1 ปี หรือที่เรียกกันว่า กำหนดออกเป็นรายปี โดยจัดเรียงเนื้อเรื่องภายในเล่มตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหลัง ซึ่งหน่วยงานทั่วไปมักรู้จักในลักษณะของ รายงานประจำปี
1.4 หนังสือคู่มือ (Handbook) เป็นหนังสืออ้างอิงที่ให้ความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้อย่างสั้น กะทัดรัด และสามารถใช้ตอบคำถามง่ายๆ ได้ โดยจัดเรียงชื่อของเนื้อเรื่องภายในเล่มตามลำดับอักษร ก-ฮ สำหรับหนังสือคู่มือภาษาไทย หรือ A- Z สำหรับหนังสือคู่มือภาษาอังกฤษ หรือจัดเรียงตามลำดับการใช้งานของผลิตภัณฑ์
1.5 นามานุกรม / ทำเนียบนาม (Directory) เป็นหนังสืออ้างอิงที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อบุคคล หรือรายชื่อหน่วยงาน สถาบันต่างๆ โดยนำรายชื่อเหล่านั้นมาจัดเรียงตามลำดับอักษร ก-ฮ สำหรับนามานุกรมภาษาไทย หรือ A-Z สำหรับนามานุกรมภาษาอังกฤษ และบอกสถานที่ที่สามารถติดต่อกับชื่อนั้นได้ เช่น ที่อยู่สถานที่ทำงาน ที่อยู่ที่บ้าน หมายเลขโทรศัพท์ หรือที่อยู่ของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ นามานุกรม บางเล่มให้รายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษา และตำแหน่งด้วย
1.6 หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้ ข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อและสถานที่ทางภูมิศาสตร์ เช่น ชื่อประเทศ เมือง แม่น้ำ ภูเขา และมหาสมุทร เป็นต้น หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์จำแนกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1) อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ หรือ พจนานุกรมภูมิศาสตร์ (Gazetteer) มีลักษณะคล้ายพจนานุกรม แต่เป็นการรวบรวมชื่อและสถานที่ทางภูมิศาสตร์ต่างๆ เช่น ชื่อเมือง ชื่อภูเขา ชื่อแม่น้ำ ชื่อป่าไม้ หรือชื่อสถานที่สำคัญ โดยนำมาจัดเรียงตามลักษณะภูมิประเทศ เช่น จัดเรียงตามลำดับอักษรของทวีปก่อน แล้วภายใต้ทวีป จึงจัดเรียงตามลำดับอักษร ของประเทศต่างๆ จากนั้น จัดเรียงตามลำดับอักษรชื่อ ทางภูมิศาสตร์ของประเทศนั้นๆ อีกครั้งหนึ่ง และอธิบายข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อที่ถูกต้อง คำอ่าน สถานที่ตั้ง อาณาเขต เส้นรุ้ง เส้นแวง หรือสภาพทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญ
2) หนังสือแผนที่ (Map /Atlas) เป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลลักษณะของพื้นผิว โลก ใช้มาตราส่วนย่อให้เล็กลงตามความต้องการ แผนที่ อาจเป็นแผ่น หรือเป็นเล่มก็ได้ แต่ลักษณะเน้นของแผนที่จะไม่มีคำอธิบายเป็นตัวอักษรมากนัก ส่วนใหญ่จะใช้สัญลักษณ์ต่างๆ แทนคำอธิบาย เช่น ใช้สีแทนความหนาแน่นของป่าไม้ หรือ ความลึกของทะเล
3) หนังสือนำเที่ยว (Guidebook) เป็นหนังสือคู่มือนักท่องเที่ยว ให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งความรู้เกี่ยวกับสภาพทางภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประวัติศาสตร์ เส้นทางคมนาคม ที่พัก ค่าใช้จ่าย และสถานที่สำคัญๆ เช่น

คู่มือไทยเที่ยวไทย คู่มือเชลล์ชวนชิม หนังสืออะเมซิ่งป่าเขาลำเนาไทย
1.7 อักขรานุกรมชีวประวัติ (Biography) เป็นหนังสือที่รวบรวมชื่อบุคคลสำคัญทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิตไปแล้ว พร้อมประวัติส่วนตัว การศึกษา ผลงาน การดำรงตำแหน่ง ต่างๆ จากอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างละเอียด โดยนำชื่อบุคคลเหล่านั้น มาจัดเรียงตามลำดับอักษร ก-ฮ สำหรับอักขรานุกรมชีวประวัติภาษาไทย หรือA-Z สำหรับอักขรานุกรมชีวประวัติภาษาอังกฤษ
2. หนังสืออ้างอิงที่ชี้แนะแหล่งสารสนเทศ หมายถึง หนังสืออ้างอิงที่ไม่สามารถอ่านความรู้ เรื่องราว ข้อเท็จจริง ได้ทันทีจากตัวเล่ม แต่จะชี้แนะแหล่งสารสนเทศที่ต้องการว่ามีอยู่ในหนังสือหรือวารสารเล่มใดบ้าง ผู้ใช้ต้องจดรายละเอียดทางบรรณานุกรม เพื่อนำไปสืบค้นหนังสือหรือวารสารเล่มนั้นอีกครั้งหนึ่ง จึงจะสามารถอ่านสารสนเทศที่ต้องการได้ หนังสืออ้างอิงที่ชี้แนะแหล่งสารสนเทศ สามารถจำแนกได้ 2 ประเภทได้แก่
2.1 บรรณานุกรม (Bibliography) เป็นหนังสือที่รวบรวมบรรณานุกรมของหนังสือต่างๆ ไว้ โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ ครั้งที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ และปีพิมพ์ โดยจัดเรียงเนื้อเรื่องภายในเล่มตามหมวดหมู่สาขาวิชาต่างๆ แล้วภายใต้หมวดหมู่เหล่านั้น จะจัดเรียงรายการตามลำดับอักษรอีกครั้งหนึ่ง บรรณานุกรมบางเล่มอาจมีบทคัดย่อ (Abstract) ให้ด้วย หนังสืออ้างอิงประเภทบรรณานุกรม มีประโยชน์ในการช่วยติดตามความเคลื่อนไหว ในการจัดพิมพ์หนังสือแต่ละเล่ม และช่วยให้ทราบถึงความก้าวหน้าของสาขาวิชาต่างๆ ที่มีการตีพิมพ์หนังสือออกมา
2.2 ดรรชนีวารสารและหนังสือพิมพ์ (Index) เป็นหนังสืออ้างอิงที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวารสาร และหนังสือพิมพ์ เพื่อบอกแหล่งของบทความว่าปรากฎอยู่ในวารสารชื่อใด และหนังสือพิมพ์ชื่อใด โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อผู้เขียน ชื่อบทความ ชื่อวารสาร ปีที่ ฉบับที่ เดือน ปีพ.ศ. และเลขหน้าที่บทความนั้นปรากฏอยู่ โดยจัดเรียงเนื้อเรื่องภายในเล่มตามหมวดหมู่สาขาวิชาต่างๆ แล้วภายใต้หมวดหมู่เหล่านั้น จะจัดเรียงรายการต่างๆ ตามลำดับอักษรอีกครั้งหนึ่ง หนังสืออ้างอิงประเภทดรรชนี มีประโยชน์ในการติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ เพื่อให้ทราบว่าปัจจุบันมีผู้เขียนบทความเรื่องใด และตีพิมพ์ในวารสารหรือหนังสือพิมพ์ชื่อใดบ้าง เช่น
การเลือกใช้หนังสืออ้างอิง การเลือกใช้หนังสืออ้างอิงเพื่อหาคำตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น จำเป็นต้องเข้าใจลักษณะปัญหา และรู้จักประโยชน์ของหนังสืออ้างอิงโดยวิเคราะห์ปัญหาก่อน แล้วพิจารณาว่าจะใช้แหล่งสาสรสนเทศแหล่งเดียว หรือหลายแหล่งโดยมีหลักในการพิจารณาดังนี้
1. พิจารณาคำถามว่าต้องการสารสนเทศอะไร
1.1 คำจำกัดความ
1.2 ข้อมูล ตัวเลข สถิติ
1.3 คำบรรยายอย่างลึกซึ้งหรืออภิปรายอย่างละเอียด
1.4 เรื่องย่อ ๆ
2. คำถามนั้นอยู่ในกลุ่มสาขาวิชาใด
2.1 ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์
2.2 ต้องเกี่ยวพันหลายสาขาวิชา
2.3 ปัจจัยต่าง ๆ ที่กระทบปัญหา เช่น ยุคสมัย ระยะเวลา และสถานที่
3. สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
4. เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์
5. จำเป็นต้องใช้หนังสืออ้างอิงประเภทใด
5,1 พจนานุกรมทั่วไปเพื่อหาคำจำกัดความ
5.2 พจนานุกรมเฉพาะวิชาเพื่อค้นหาศัพท์เฉพาะ
5.3 สารานุกรมเพื่อดูเรื่องทั่วไปหรือเรื่องย่อ
5.4 บทความจากวารสารเพื่ออ่านสารสนเทศที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน
5.5 หนังสือรายปีเพื่อดูสถิติ
5.6 ใช้หนังสืออ้างอิงหลาย ๆ เล่มรวมกันการพิจารณาเลือกใช้หนังสืออ้างอิง จากลักษณะเด่นของหนังสืออ้างอิง ดังนี้
1. มีการวางแผนในการจัดเรียบเรียงและเสนอเรื่องเป็นแบบใด
1.1 ลำดับอักษร คำต่อคำ อักษรต่ออักษร
1.2 ตามปฎิทินหรือตามลำดับเหตุการณ์
1.3 ตามหัวข้อ
2. สัญลักษณ์และอักษรย่อที่ใช้ในเนื้อหา
3. เครื่องหมายหรือคำอธิบายทางภาษาศาสตร์ที่บอกสำเนียงการออกเสียง
4. ชนิดของดัชนีประโยชน์ของหนังสืออ้างอิง วิภา ศุภจาริรักษ์ (2542 : 44) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของหนังสืออ้างอิง ดังนี้
1. ใช้เป็นแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ เนื่องจากเป็นหนังสือที่เขียนโดย ผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะสาขาวิชา
2. ใช้ค้นหาสารสนเทศที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการเรียบเรียงเนื้อหาอย่างเป็นระบบ เช่น เรียงตามลำดับอักษร หรือเรียงตามลำดับหมวดหมู่
3. ใช้ค้นหาสารสนเทศได้ทุกสาขาวิชา เนื่องจากเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาครอบคลุม กว้างขวางทุกสาขาวิชา
4. ช่วยชี้แนะแหล่งสารสนเทศอื่นๆ ได้อีก ทำให้ผู้ใช้สามารถค้นคว้าสารสนเทศ ได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น เช่น บรรณานุกรม และหนังสือดรรชนี
สรุปสาระสำคัญ หนังสืออ้างอิง เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้ เรื่องราว ข้อเท็จจริง ในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อค้นหาคำตอบหรือข้อความ เฉพาะบางเรื่อง บางตอน โดยไม่ต้องอ่านทั้งเล่ม และไม่อนุญาตให้ยืมออกนอกห้องสมุด หนังสืออ้างอิงมีลักษณะการจัดเรียงเนื้อหาอย่างเป็นระบบ มีรูปเล่มขนาดใหญ่ อาจมีหลายเล่มจบ เป็นหนังสือหายาก หรือเป็นหนังสือที่มีราคาแพง หนังสืออ้างอิงเป็นแหล่งสารสนเทศที่เชื่อถือสามารถค้นหาสารสนเทศได้ทุกสาขาวิชาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังชี้แนะแหล่งสารสนเทศอื่นๆ อีก การจัดเรียงเนื้อหาของหนังสืออ้างอิงมีหลายรูปแบบ เช่น เรียงตามลำดับอักษร เรียงตามหมวดหมู่ เรียงตามลำดับเหตุการณ์หรือเวลา หรือเรียงตามลำดับลักษณะภูมิศาสตร์ ลักษณะพิเศษเพื่อช่วยค้นหาสารสนเทศจากหนังสืออ้างอิง มี 5 ลักษณะ ได้แก่ สัญลักษณ์นำเล่ม ดรรชนีหัวแม่มือ (ดรรชนีริมหน้ากระดาษ) อักษรนำหน้า ดรรชนี และส่วนโยง หนังสืออ้างอิงจำแนกได้ 2 ประเภท คือ หนังสืออ้างอิงที่ให้สารสนเทศ และหนังสืออ้างอิงที่ชี้แนะแหล่งสารสนเทศ หนังสืออ้างอิงเป็นหนังสือที่มีคุณค่า แตกต่างจากหนังสือทั่วไป และเป็นหนังสือที่ใช้ค้นหาคำตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเฉพาะ หากต้องการความรู้และคำตอบในเรื่องใด ต้องพิจารณาคำถามอย่างระมัดระวัง จึงจะสามารถค้นหาจากหนังสืออ้างอิงได้







กิจกรรมเสนอแนะเพื่อการเรียนรู้
ให้นักศึกษาสำรวจหนังสืออ้างอิงในห้องสมุดของสถานศึกษา และนำเสนอบนบอร์ดหน้าชั้นเรียนแบ่งตามกลุ่ม
กลุ่มที่ 1 พจนานุกรม (Dictionary)
กลุ่มที่ 2 สารานุกรม (Encyclopedia)
กลุ่มที่ 3 นามานุกรม (Directory)
กลุ่มที่ 4 หนังสือรายปี (Year Book)
กลุ่มที่ 5 หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์

โดยแต่ละชื่อเรื่องให้สำรวจในหัวข้อต่อไปนี้
1. ประเภทของหนังสืออ้างอิง
2. การจัดเรียบเรียง
3. ลักษณะพิเศษ
4. ประโยชน์





แบบประเมินผลการเรียนรู้ท้ายหน่วยที่ 4หนังสืออ้างอิง
ตอนที่ 1 คำสั่ง เลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว1. ข้อใดคือความหมายของหนังสืออ้างอิงก . หนังสือที่มีหลายเล่มจบ หรือหนังสือชุด ข. หนังสือที่รวบรวมความรู้เฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งค. หนังสือที่รวบรวมความรู้ เรื่องราว ข้อเท็จจริงในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อค้นหาคำตอบเฉพาะเรื่อง ง . ถูกทุกข้อ2. ข้อใดไม่ใช่ลักษณะของหนังสืออ้างอิงก. เป็นหนังสือหายาก ข. เป็นหนังสือราคาแพง ค. เป็นหนังสือที่มีรูปเล่มขนาดใหญ่ ง. เป็นหนังสือที่ไม่ให้ยืมออกจากห้องสมุด3. ข้อใดคือประโยชน์ของหนังสืออ้างอิง ก. ทำให้ผู้อ่านมีความรู้มากขึ้น ข. ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ค. ค้นหาสารสนเทศที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว ง. ใช้ค้นหาสารสนเทศเฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง4. ถ้านักศึกษาต้องการทราบความหมายของคำว่า clock จะสามารถค้นได้จากหนังสืออ้างอิงเล่มใด ก. พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ข. พจนานุกรมศัพท์ช่างอังกฤษ-ไทย ค. พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ง. พจนานุกรมหมวดไทย-อังกฤษฉบับนักศึกษา5. ถ้านักศึกษาต้องการทราบความหมายของคำว่า เจดีย์ จะสามารถค้นได้จากหนังสืออ้างอิงเล่มใด ก. พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ข. พจนานุกรมศัพท์ช่างอังกฤษ-ไทย ค. พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ง. พจนานุกรมหมวดไทย-อังกฤษฉบับนักศึกษา6. ถ้านักศึกษาต้องการทราบความหมายของคำว่า software จะสามารถค้นได้จากหนังสืออ้างอิงเล่มใด ก. พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ข. พจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์ ค. New Model English-Thai Dictionary ง. Webster’s New World Dictionary of American English
7. พจนานุกรมที่มีคำศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ คำแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีน เรียกว่าพจนานุกรมอะไร ก. พจนานุกรมภาษาเดียว ข. พจนานุกรมสองภาษา ค. พจนานุกรมสามภาษา ง. พจนานุกรมหลายภาษา8. ต้องการทราบประวัติของ ทำเนียบขาว (White House) สามารถค้นได้จากหนังสืออ้างอิงเล่มใด ก. The New Encyclopedia Britannica ข. The Encyclopedia Americana ค. Children’s Britannica ง. Lands and Peoples9. การประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC) ในเดือนตุลาคม 2546 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จะถูกบันทึกในหนังสืออ้างอิงเล่มใด ก. Guiness Book of World Records ข. Annual of the State of the World ค. McGraw-Hill Yearbook of America ง. Thailand Yearbook10. สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทใด ก. หนังสือรายปี ข. หนังสือคู่มือ ค. หนังสือทำเนียบนาม ง. หนังสือบรรณานุกรม11. หนังสืออ้างอิงที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อบุคคล หรือหน่วยงาน พร้อมสถานที่ที่สามารถติดต่อได้ คือหนังสือ อ้างอิงเล่มใด ก. นามสงเคราะห์ส่วนราชการไทย ข. ประมวลชีวิตและผลงานของนักวิทยาศาสตร์ไทย ค. สยามจดหมายเหตุ : บันทึกข่าวสารและเหตุการณ์ ง. บรรณานุกรมสิ่งพิมพ์ของกระทรวงศึกษาธิการ12. ถ้านักศึกษาต้องการทราบว่าจังหวัดลพบุรีมีกี่อำเภอ จะสามารถค้นได้จากหนังสืออ้างอิงเล่มใด ก. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ข. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง ค. แผนที่ประเทศไทย ง. ท่องเที่ยวประเทศไทย13. หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ ที่ใช้สัญลักษณ์ต่างๆ แทนคำอธิบาย คือหนังสืออ้างอิงเล่มใด ก. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ข. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง ค. ท่องเที่ยวประเทศไทย ง. แผนที่ประเทศไทย

14. ถ้านักศึกษาต้องการทราบประวัติของนายอานันท์ ปันยารชุน จะสามารถค้นได้จากหนังสืออ้างอิงเล่มใด ก. Thailand Yearbook ข. Thailand bibliography ค. Who’s who in Thailand ง. Who’s who directory in Thailand 15. ต้องการทราบรายชื่อหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมด ค้นได้จากหนังสืออ้างอิงประเภทใด ก. บรรณานุกรมกระทรวงศึกษาธิการ ข. นามานุกรมกระทรวงศึกษาธิการ ค. สารานุกรมกระทรวงศึกษาธิการ ง. ทำเนียบนามกระทรวงศึกษาธิการ16. หนังสืออ้างอิงที่มีลักษณะเป็นชุด มีหลายเล่มจบ มีลักษณะพิเศษในข้อใดที่บอกลำดับที่ของเล่ม ก. volume guide ข. Thumb index ค. Guide word ง. Cross reference17. การตัดกระดาษริมขวาให้เป็นรูปครึ่งวงกลม และกำกับด้วยตัวอักษร เรียกว่าอะไร ก. volume guide ข. Thumb index ค. Guide word ง. Cross reference18. คำที่ปรากฏอยู่ที่มุมบนของหน้ากระดาษทุกหน้า โดยการนำคำแรกและคำสุดท้ายของหน้านั้นๆ มาเขียนไว้ที่มุมบนซ้ายและขวา ของหน้าเรียกว่าอะไร ก. Volume guide ข. Thumb index ค. Guide word ง. Cross reference19. ถ้าต้องการทราบเรื่อง เอื้องแซะเหลือง เมื่อสืบค้นจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ พบคำว่า เอื้องแซะเหลือง ดูที่ เอื้องกาจก หมายความว่าอย่างไร
20. ถ้าต้องการทราบเรื่อง ดาว เมื่อสืบค้นจากสารานุกรมสำหรับเด็กและเยาวชน พบคำว่า ดาว ดูเพิ่มเติมที่ ดาราศาสตร์ หมายความว่าอย่างไร ก. ได้เรื่องราวของดาวครบถ้วน และมีความรู้กว้างขึ้นหากเปิดคำว่า ดาราศาสตร์ ด้วย ข. ได้เรื่องราวของดาวไม่ครบถ้วน ต้องเปิดที่คำว่า ดาราศาสตร์ด้วย ค. ได้เรื่องราวของดาราศาสตร์ครบถ้วนสมบูรณ์ ง. ได้เรื่องราวของดาราศาสตร์ไม่ครบถ้วนตอนที่ 2 คำสั่ง จงระบุประเภทของหนังสืออ้างอิงเหล่านี้ให้ถูกต้อง1. Webster’s New World Dictionary of American English เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทใด..........................................................................................................................................................2. The World Book Encyclopediaเป็นหนังสืออ้างอิงประเภทใด..........................................................................................................................................................3. Thailand Yearbook เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทใด..........................................................................................................................................................4. The animation producer’s handbook เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทใด..........................................................................................................................................................5. Who was who in the twentieth century? เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทใด..........................................................................................................................................................6. Goode’s World Atlas เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทใด..........................................................................................................................................................7. Who’s Who in Thailand เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทใด..........................................................................................................................................................8. Bibliography children’s books from Asia 1980 เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทใด..........................................................................................................................................................9. Readers’ Guide to Periodical Literature เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทใด..........................................................................................................................................................10. SMEs Directory 2010 เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทใด..........................................................................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น