หน่วยที่ 3
ทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุด
องค์การสหประชาชาติแบ่งประเภทของทรัพยากร ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรสารสนเทศ ทรัพยากรสารสนเทศ (Information Resources) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ทรัพยากรสารสนเทศมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปทั้งในด้านเนื้อหา รูปแบบ ผู้ใช้ห้องสมุดต้องรู้จักการเลือกใช้ให้ตรงตามความต้องการของตน
ความหมายของทรัพยากรสารสนเทศ
ทรัพยากรสารสนเทศ หมายถึง วัสดุหรือสื่อ (Media) ที่ใช้ถ่ายทอดสารสนเทศ ซึ่งตามปกติสารสนเทศจะไม่มีตัวตน ไม่สามารถจับต้องได้ จำเป็นต้องใช้วัสดุหรือสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งบรรจุสารสนเทศนั้นๆ เพื่อการถ่านทอดสารสนเทศ (สุกัญญา กุลนิติ. 2549 : 28)
น้ำทิพย์ วิภาวิน (2547 : 85) ได้ให้ความหมายของทรัพยากรสารสนเทศ (Information Resources) ไว้ว่า หมายถึง สารสนเทศประเภทต่าง ๆ ที่มีการบันทึกไว้ในสื่อประเภทต่าง ๆ โดยนำเสนอด้วยตัวอักษร ภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว อาจเรียกชื่อว่าทรัพยากรห้องสมุด (Library Resources) หรือวัสดุห้องสมุด (Library Materials)
ดังนั้นสรุปได้ว่าทรัพยากรสารสนเทศ หมายถึง วัสดุที่บันทึกสารสนเทศไว้ในสื่อต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดสารสนเทศสู่ผู้ใช้สารสนเทศ
วัสดุสารสนเทศในห้องสมุด
วัสดุสารสนเทศในห้องสมุด สามารถแบ่ง 3 ประเภท คือ สื่อสิ่งพิมพ์ (Printed Materials) สื่อโสตทัศน์ (Audiovisual Materials) และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Materials)
1. สื่อสิ่งพิมพ์ (Printed Materials) แบ่งย่อย ๆได้ดังต่อไปนี้
1.1 หนังสือ (Books) หมายถึงทรัพยากรสารสนเทศที่ตีพิมพ์เป็นตัวอักษรอธิบายเรื่องราว เหตุการณ์ วิชาความรู้ ความเชื่อ ประสบการณ์ และการกระทำของมนุษย์ ไว้ในรูปเล่มถาวร มีส่วนประกอบที่สมบูรณ์ เช่น ใบหุ้มปก ปกหนังสือ ใบรองปก หน้าชื่อเรื่อง หน้าปกใน คำนำ สารบัญ เนื้อเรื่อง บรรณานุกรม ภาคผนวก อภิธานศัพท์ และดรรชนี
หนังสือแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1) หนังสือสารคดี (Non-Fiction Book) หมายถึง หนังสือที่ให้ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ได้แก่ ตำราวิชาการ หนังสือแบบเรียน หนังสืออ่านประกอบ หนังสือความรู้ทั่วไป หนังสืออ้างอิง และรายงานการวิจัย
จดหมายเหตุ (Archives) คือ เอกสารที่จัดทำขึ้นใช้ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน และที่สิ้นกระแสการใช้งานแล้ว ได้รับการประเมินค่าว่าเป็นเอกสารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมถึงสิ่งพิมพ์รัฐบาล ภาพถ่าย ฟิล์ม สไลด์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ ภาพยนตร์ แผนที่ แผนผัง โปสเตอร์ เอกสารที่สิ้นกระแสการใช้งานนั้น ปกติจะเป็นเอกสารที่มีอายุ 25 ปี ขึ้นไป ได้รับการเก็บรักษาเพื่อประโยชน์ต่อการค้นคว้า อ้างอิง ถือว่าเป็นเอกสารปฐมภูมิที่มีคุณค่า
สิทธิบัตร (Patents) คือ เอกสารที่จดทะเบียนสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้สารสนเทศเกี่ยวกับวิธีการผลิตของผลิตภัณฑ์ต่างๆ
มาตรฐาน (Standards) คือ เอกสารที่ระบุเกณฑ์หรือข้อกำหนดที่ใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงคุณภาพ ความเหมาะสม ความปลอดภัย หรือคุณค่าของสิ่งของ เครื่องมือ และวิธีการปฏิบัติ ที่เป็นมาตรฐาน
2) หนังสือบันเทิงคดี (Fiction Book) เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากจินตนาการมุ่งให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ ได้แก่ นวนิยาย เรื่องสั้น หนังสือเด็กและเยาวชน
2.1) หนังสือนวนิยาย (Fiction) เป็นหนังสือที่เน้นด้านบันเทิง มีเนื้อหาต่อเนื่องกันทั้งเรื่อง โดยผู้แต่งคนเดียว อาจจบภายในเล่มเดียวหรือหลายเล่มจบ
2.2) เรื่องสั้น (Short Story) เป็นหนังสือที่เสนอเนื้อหาเรื่องราวต่างๆ ไม่ยาวนัก สามารถอ่านจบในเวลาอันรวดเร็ว มีขนาดสั้นกว่านวนิยาย อาจมีการรวมเรื่องสั้นหลายเรื่องไว้ในเล่มเดียวกัน โดยมีชื่อเรื่องสำหรับเรียกโดยเฉพาะ หรือนำชื่อของเรื่องสั้นที่เด่นๆ มาเป็นชื่อเรื่องของหนังสือ อาจรวบรวมผลงานของนักประพันธ์คนเดียวหรือหลายคนก็ได้
2.3) หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน (Juvenile Books) ส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาพ ใช้ภาพเป็นสื่อในการเสนอเนื้อหา มีสีสวยงาม ชักจูงใจให้เด็กสนใจในการอ่าน เป็นเรื่องสั้นๆ มุ่งสอนจริยธรรมแก่เด็ก ให้ความรู้แก่เด็กในเรื่องต่าง ๆ
1.2 วารสารและนิตยสาร (Journals and Periodicals)
เป็นสิ่งพิมพ์ที่มีกำหนดออกตามวาระ ส่วนใหญ่จะมีกำหนดแน่นอนมีทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน ราย 3 เดือน ราย 4 เดือน ราย 6 เดือน ตามความเหมาะสม เนื้อหาเสนอในรูปบทความวิชาการ จดหมายข่าว เกร็ดความรู้ ทั้งที่จบในฉบับและแบบต่อเนื่อง เนื้อหาจะมีความทันสมัยมากกว่าหนังสือ เขียนโดยผู้เขียนหลายคน มีทั้งที่เป็นวารสารวิชาการ (Journals) คือ ส่วนใหญ่ เสนอบทความทางวิชาการ สารคดี วารสารที่ให้ความบันเทิง นิยมเรียกว่า "นิตยสาร" (Magazines) มุ่งเน้นทางด้านบันเทิง สาระเบาสมอง
1.3 หนังสือพิมพ์รายวัน (Newspapers) เป็นสิ่งพิมพ์ที่มีกำหนดออกเป็นรายวันหรือออกประจำทุกวัน อาจจะออกวันละ 1 ฉบับ หรือมากกว่า ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ ท้องถิ่น อาจมีกำหนดออกเป็นราย 7 วัน หรือ 15 วัน ตามความเหมาะสม หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะเสนอข่าวความเคลื่อนไหวเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของสังคม รวมทั้งเสนอบทความ ความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ อาจเป็นเรื่องทั่วไปหรือวิชาการ ตลอดจนบันเทิงคดี นวนิยาย สารคดี รวมทั้งโฆษณาสินค้า และบริการ
1.4 จุลสาร(Pamphlets) เป็นสิ่งพิมพ์ขนาดเล็กมี่มีเนื้อหาสาระเฉพาะด้าน จบบริบูรณ์ในเล่ม เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญหรือได้รับความสนใจในขณะนั้น จุลสารจัดทำขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบ
1.5 กฤตภาค (Clipping) เป็นสิ่งพิมพ์ที่ห้องสมุดผลิตขึ้นโดยการตัดเนื้อหา ข้อความ ข่าวสาร สาระสำคัญจากหนังสือพิมพ์ วารสาร มาผลึกลงบนกระดาษ กำหนดหัวเรื่องและบอกแหล่งที่มา ตามรูปแบบบรรณานุกรม จากนั้นก็นำไปเก็บใส่แฟ้มแยกตามหัวเรื่อง เพื่อความสะดวก ในการค้นคืน
2 สื่อโสตทัศน์วัสดุ (Audiovisual Material) เป็นวัสดุที่ถ่ายทอดสารสนเทศด้วยวิธีการพิเศษไปจากการสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนใหญ่ต้องใช้เครื่อมือหรืออุปกรณ์เป็นพิเศษ ตามวัสดุแต่ละชนิด ต้องใช้วิธีการสลับชับช้อนในการถ่ายทอดสารสนเทศ เช่น
2.1 รูปภาพ (Picture) ได้แก่ภาพถ่าย ภาพศิลปะต้นฉบับ ภาพพิมพ์ ภาพจำลอง ภาพโปสเตอร์ ภาพโปสการ์ด เป็นต้น ภาพเป็นสื่อสารสนเทศที่สามารถอธิบายความหมายในตัว ของมันเอง เป็นเครื่องมือที่ทุกชาติทุกภาษาเข้าใจ สัมผัสความจริงได้ด้วยสายตาของตนเอง ดังคำพูดที่ว่า “ภาพ ๆ เดียวดีกว่าคำพูดเป็นล้านคำ”
2.2 วัสดุกราฟิก (Graphic Material) เป็นสื่อประเภททัศนวัสดุ ที่นำมาใช้ในการสื่อความหมาย เพื่อแสดงสัญลักษณ์ เกี่ยวกับข้อเท็จจริง แนวความคิด เช่น
1) แผนสถิติ (Graphs) เป็นสื่อสารสนเทศที่ทำขึ้น เพื่อการสื่อความหมายเชิงปริมาณและตัวเลข เช่น กราฟเส้น กราฟแท่ง กราฟวงกลม และกราฟรูปภาพ
2) แผนภูมิ (Charts) เป็นวัสดุสารสนเทศที่เสนอข้อมูลในลักษณะรูปภาพ ภาพลายเส้น ตัวเลข สัญลักษณ์และตัวหนังสือที่แสดงความสัมพันธ์ ความเกี่ยวโยง ความต่อเนื่อง วิวัฒนาการและลักษณะของสิ่งของ วัตถุหรือบุคคล เช่น แผนภูมิแบบตาราง แผนภูมิแบบอธิบายภาพ แผนภูมิเปรียบเทียบ แผนภูมิแบบองค์การ แผนภูมิแบบต้นไม้ เป็นต้น
3) แผนภาพ (Diagrams) เป็นสื่อสารสนเทศที่แสดงส่วนประกอบและระบบการทำงานภายในของสิ่งต่างๆ ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แสดงโครงสร้าง และความสัมพันธ์ภายในโครงสร้างของวัสดุหรือกระบวนการ โดยใช้ลายเส้นและสัญลักษณ์แสดง มีคำบรรยายประกอบเช่น วงจรไฟฟ้า พิมพ์เขียวในงานก่อสร้างการทำงานของลูกสูบในรถยนต์ เป็นต้น
2.3 วัสดุแผนที่ (Cartographic Material) เป็นวัสดุที่แสดงให้เห็นรูปร่างลักษณะบนผิวโลก ลักษณะภูมิประเทศ สถานที่ ทิศทาง ระยะทาง เส้นกั้นอาณาเขต และสิ่งอื่นๆ ที่ปรากฏบนผิวโลกที่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยย่อส่วนสิ่งต่างๆ เหล่านั้น แสดงไว้โดยใช้สี ภาพ สัญลักษณ์ และเครื่องหมายต่างๆ เช่น แผนที่ ลูกโลก
2.4 สไลด์ (Slide) เป็นภาพนิ่งที่ถ่ายลงบทแผ่นฟิล์มโปร่งแสงผนึกกับกรอบกระดาษ หรือพลาสติก มีทั้งสไลด์สีและขาวดำ เมื่อจะใช้ต้องนำไปใช้กับเครื่องฉายสไลด์
2.5 ฟิล์มสตริป (Filmstrips) เป็นภาพนิ่งที่ถ่ายลงบทแผ่นฟิล์มโปร่งใส ขนาด 35 ม.ม. ภาพเรียงตามลำดับของการถ่ายตามความยาวของฟิล์ม เวลาจะใช้ต้องใช้กับเครื่องฉายฟิล์มสตริป
2.6 ภาพยนตร์ (Motion Picture) เป็นสื่อสารสนเทศที่บันทึกภาพบนฟิล์มโพสิทิฟ เรียงต่อเนื่องกันตามลำดับ แต่ละภาพมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อย เมื่อนำมาฉายต่อเนื่องกันในอัตราความเร็วที่พอเหมาะก็จะปรากฏเป็นภาพเคลื่อนไหว
2.7 วัสดุบันทึกเสียงและภาพ (Sound and Picture Recordings) เป็นสื่อที่บันทึกเสียงและภาพ เช่น
1) แผ่นเสียง (Disc) มีลักษณะเป็นแผ่นกลม ซึ่งบันทึกเสียงลักษณะเป็นร่อง ไว้บนพื้นผิว เมื่อใส่ลงบนหีบเสียงและให้เข็มเดินบนร่องเสียงก็จะเกิดเสียงตามที่บันทึกไว้
2) แผ่นวีดิทัศน์ (Video Disc) เป็นสื่อสารสนเทศที่พัฒนามาจากแผ่นเสียง ต่างกันที่แผ่นวีดิทัศน์มีการบันทึกสัญญาณภาพและเสียงที่ละเอียดและซับซ้อนมากกว่า
3) เทปบันทึกเสียง (Sound Tape) เป็นวัสดุบันทึกเสียงโดยอาศัยการทำงาน ของเครื่องบันทึกเสียง เช่น เทปม้วน เทปตลับ เทปกล่อง
4) แถบวีดิทัศน์ (Video Tape) เป็นแถบบันทึกเสียงและภาพ ที่สามารถเล่นได้จากเครื่องเล่น
วีดิทัศน์โดยชมภาพและเสียงจากโทรทัศน์
2.8 หุ่นจำลอง (Models) เป็นวัสดุสามมิติที่สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบของจริงหรือใช้แทนของจริงที่ไม่สามารถนำมาแสดงได้โดยตรง เช่น หุ่นจำลองลักษณะภายนอก หุ่นจำลองแบบย่อหรือขยาย หุ่นจำลองแบบผ่าซีก หุ่นจำลองแบบแยกส่วน เป็นต้น
2.9 ของตัวอย่าง (Specimens) เป็นสารสนเทศที่นำมาเป็นตัวแทนของสิ่งหนึ่ง อาจเอามาเป็นบางส่วนของๆ จริง หรือของเลียนแบบที่คล้ายของจริง เช่น ตัวอย่างหิน แร่ธาตุต่างๆ
2.10 วัสดุย่อส่วน (Microforms) เป็นสารสนเทศที่ย่อส่วนจากต้นฉบับมาลงบทแผ่นฟิล์มที่มีขนาดเล็กลงจนไม่สามารถอ่านด้วยตาเปล่าได้ ต้องใช้เครื่องอ่านวัสดุย่อส่วน จึงสามารถประหยัดงบประมาณและเนื้อที่ในการจัดเก็บ และสามารถรักษาต้นฉบับของสารสนเทศให้มีอายุยืนนานอีกด้วย เช่น
1) ไมโครฟิล์ม (Microfilm) ได้จากการถ่ายภาพสารสนเทศต้นฉบับต่างๆ ลงบนฟิล์ม การบรรจุสารสนเทศ ขึ้นอยู่กับความยาวและขนาดของฟิล์ม ไมโครฟิล์มอาจย่อจากต้นฉบับลงได้ประมาณ 15:1 ถึง 40 : 1
2) ไมโครฟิซ (Microfiche) มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มได้จากการถ่ายภาพสิ่งพิมพ์ลงบนแผ่นฟิล์มโปร่งใสโดยย่อจากต้นฉบับลงได้ประมาณ 15:1 ถึง 40 : 1 มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มขนาด 3 นิ้ว คูณ 5 นิ้ว ขนาด 4 นิ้ว คูณ 6 นิ้ว หรือ ขนาด 6 นิ้ว คูณ 8 นิ้ว สามารถเก็บสารสนเทศได้ประมาณ 100 หน้า
3) อัลตราฟิซ (Ultra fiche) คือไมโครฟิซที่ย่อส่วนลงขนาดเล็กมาก แผ่นฟิล์มขนาด 4 นิ้ว คูณ 6 นิ้ว สามารถบรรจุข้อความในหนังสือได้ประมาณ 3,000 หน้า
2.11 วิทยุ (Radio) เช่น รายการวิทยุเพื่อการศึกษา
2.12 โทรทัศน์ (Televisions) เช่น รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา รายการโทรทัศน์เพื่อการเรียนการสอน
รูปที่ 43 เทปแม่เหล็ก (Magnetic Tape)
3. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Materials) เป็นวัสดุสารสนเทศที่จัดเก็บสารสนเทศในรูปอักษร ภาพ และเสียงไว้ โดยการแปลงสารสนเทศให้เป็นสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องมีเครื่องมือสำหรับจัดเก็บและแสดงผลออกมา โดยการแปลงสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นสัญญาณภาพและเสียงอีกครั้งหนึ่ง เช่น 3.1 เทปแม่เหล็ก (Magnetic Tape) มีลักษณะคล้ายแถบบันทึกเสียง ความยาวปกติ 2,400 ฟุต กว้าง 0.5 นิ้ว ทำด้วยพลาสติก เคลือบด้วยสารไอออนออกไซด์ (Iron Oxide) ทำให้เป็นสารแม่เหล็ก ข้อมูลที่มีความยาว 80 ตัวอักษร สามารถบันทึกไว้ในเทปแม่เหล็กที่มีความยาวเพียง 0.1 นิ้ว หรือ 1 ม้วน บรรจุข้อมูลได้ถึง 100 ล้านตัวอักษร สามารถบันทึกซ้ำหรือลบข้อมูลได้
3.2 จานแม่เหล็ก/แผ่นดิสเก็ต (diskettes) เป็นแผ่นโลหะหุ้มด้วยไมลาอีก 1 ชั้น มีหลายชนิดและหลายขนาด แต่ละชนิดมีสมรรถนะความจุในการบันทึกข้อมูลได้แตกต่างกัน
รูปที่ 44 จานแม่เหล็ก/แผ่นดิสเก็ต (diskettes)
ที่มา : ห้องสมุดวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี
3.3 แผ่นจานแสง (optical disc) เป็นแผ่นโลหะผสมพิเศษ มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 นิ้ว บันทึกและอ่านสารสนเทศด้วยระบบแสงเลเซอร์ ต้องมีเครื่องบันทึกและอ่านโดยเฉพาะ ประเภทของจานแสงที่ผู้ใช้คุ้นเคยมากที่สุด คือ ซีดี-รอม (Compact Disc Read Only Memory - CD-ROM) มีลักษณะเหมือนแผ่นจานแสงทั่วไป ใช้อ่านข้อมูลได้อย่างเดียว ไม่สามารถบันทึกหรือแก้ไขข้อมูลที่บันทึกไว้ได้ แผ่นซีดี-รอม มีความสามารถในการบรรจุสารสนเทศได้มาก ซีดี-รอม 1 แผ่น จุข้อความได้เทียบเท่าหนังสือหนาประมาณ 300,000 หน้ากระดาษ หรือ 600 ล้านตัวอักษร ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนามากขึ้น สามารถบันทึกสารสนเทศได้ทั้งภาพ เสียง ตัวอักษร และภาพเคลื่อนไหว ในลักษณะสื่อผสม (multimedia) และเป็นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป
รูปที่ 45 แผ่นจานแสง (optical disc) ที่มา : ห้องสมุดวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี
3.4 ฐานข้อมูลสำเร็จรูป ซีดี-รอม (compact Disc-Read Only Memory Database) เป็นแผ่นซีดีที่บันทึกข้อมูลเป็นรูปดิจิตอลซีดี-รอม 1 แผ่นสามารถบรรจุข้อมูลเท่ากับกระดาษ A4 ประมาณ 250,000 หน้า สามารถบันทึกสารสนเทศแบบสื่อผสม สารสนเทศที่บันทึกลงไปไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบได้
3.5 ฐานข้อมูลบัตรรายการออนไลน์ (OPAC : Online Public Access Catalog Database) เป็นฐานข้อมูลสารสนเทศวัสดุในห้องสมุด เช่น ฐานข้อมูลหนังสือ วารสาร สื่อโสตทัศน์ ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ บางห้องสมุดอาจมีฐานข้อมูลเต็มรูป ( Full-text Database)
3.6 ฐานข้อมูลออนไลน์ (Online Database) เป็นฐานข้อมูลที่ห้องสมุดบอกรับเป็นสมาชิก โดยใช้ข้อมูลจากซีดี-รอม หรือใช้ฐานข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ท เช่น ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ฐานข้อมูลทางธุรกิจ ผู้ใช้บริการฐานข้อมูลเหล่านี้ ต้องสมัครเป็นสมาชิกและต้องเสียค่าใช้จ่ายในรูปค่าเช่าหรือค่าธรรมเนียมในหารผ่านเข้าไปยังข้อมูล
3.7 อินเทอร์เน็ต (Internet) เป็นเครือข่ายที่รวมเอาเครือข่ายย่อยๆ หรือกล่าวได้ว่าเป็นเครือข่ายของเครือข่าย ติดต่อสื่อสารกันได้โดยใช้โปรโตคอลแบบทีซีพี/ไอพี (TCP/IP) ซึ่งทำให้คอมพิวเตอร์ต่างชนิดกันสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยกันได้ อินเทอร์เน็ตมีบริการต่างๆ ที่ช่วยให้สามารถหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและทันสมัย ประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนั้น ยังเป็นสื่อกลางสำหรับการสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน การติดตามข่าวสาร เป็นต้น
สรุปสาระสำคัญ
ทรัพยากรสารสนเทศ หมายถึง วัสดุที่บันทึกสารสนเทศไว้ในสื่อต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดสารสนเทศสู่ผู้ใช้สารสนเทศ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้ใช้บริการสารสนเทศต้องเลือกใช้ทรัพยากรสารสนเทศให้เหมาะสมจะสามารถประหยัดเวลาในการศึกษาและจะได้ข้อมูลตรงตามความต้องการ
แบบแบบประเมินผลการเรียนรู้ท้ายหน่วยที่ 3
ทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุด
ตอนที่ 1 คำสั่ง จงเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว
1. วัสดุสารสนเทศมีวัสดุประเภทใดบ้าง
ก. หนังสือและสื่อโสตทัศน์
ข. วัสดุตีพิมพ์และสื่อโสตทัศน์
ค. สื่อสิงพิมพ์ และสื่อโสตทัศน์
ง. สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์
2. ข้อใดเป็นสื่อสิ่งพิมพ์
ก. เทปวีดิทัศน์ ข. กฤตภาค
ค. ภาพเลื่อน ง. ภาพยนตร์
3. สิ่งพิมพ์ที่รัฐบาล หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถาบัน จัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ ความยาวไม่เกิน 60 หน้ากระดาษ เนื้อหาเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ หมายถึงสิ่งพิมพ์ประเภทใด
ก. จุลสาร ข. กฤตภาค
ค. นวนิยาย ง. รายงานการวิจัย
4. สิ่งพิมพ์ที่ตัดข่าว หรือบทความที่สำคัญ ติดลงบนกระดาษ ให้หัวเรื่องแล้วเก็บเข้าแฟ้มตามหัวเรื่องนั้น ๆ คือ
ก. หนังสือพิมพ์ ข. วารสาร ค. กฤตภาค ง. จุลสาร
5. สิ่งพิมพ์ที่มีกำหนดออกอย่างสม่ำเสมอ คือ
ก. หนังสือ ข. วารสาร ค. กฤตภาค ง. จุลสาร
6. วารสารเป็นทรัพยากรสารสนเทศประเภทใด
ก. สื่อโสตทัศน์ ข. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ค. สื่อสิ่งพิมพ์ ง. วัสดุย่อส่วน
7. หนังสือที่เขียนขึ้นจากจินตนาการและประสบการณ์ได้แก่ข้อใด
ก. ปรัชญา ข. นวนิยาย
ค. ตำรา ง. พจนานุกรม
8. วารสารชนิดใดต่อไปนี้ เสนอข่าวในรูปของการวิเคราะห์วิจารณ์
ก. วารสารรามคำแหง ข. วารสารเคมีสัมพันธ์
ค. มติชนสุดสัปดาห์ ง. แพรว
9. “ ไดอะแกรม “ เป็นชื่อเรียกของอะไร
ก. แผนภาพ ข. แผนภูมิ ค. แผนสถิติ ง. แผ่นโปร่งใส
10. สื่อสารสนเทศข้อใดบันทึกสารสนเทศได้มากที่สุด
ก.หนังสือ ข.วัสดุย่อส่วน ค.ซีดี-รอม ง. แถบบันทึกเสียง
ตอนที่ 2 คำสั่ง จงอธิบายอย่างสั้น ๆ พอเข้าใจ
1. ทรัพยากรสารสนเทศ หมายถึง อะไร
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
2. หนังสือ กับวารสารแตกต่างกันอย่างไร
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
3. ทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดวิทยาลัยของท่านมีกี่ประเภท อะไรบ้าง
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
4. บริการสารนเทศในห้องสมุดที่นักศึกษาใช้เป็นประจำได้แก่บริการอะไรบ้าง เพราะเหตุใด
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น